ขนมจีนทำไมถึงเรียกว่า "ขนมจีน" ?

Last updated: 9 ส.ค. 2564  |  24905 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ขนมจีนทำไมถึงเรียกว่า "ขนมจีน" ?

    เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมขนมจีนถึงเรียกว่า "ขนมจีน" ทั้งที่หน้าตาอาหารก็ดูไม่เหมือนขนมหรืออาหารจีนเอาเสียเลย วันนี้ OTTO KITCHEN CLUB มีคำตอบมาให้ค่ะ ^_^

"ขนมจีน" เป็นอาหารคาวชนิดหนึ่ง ที่ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า ขนมจีนนั้นเป็นอาหารที่พบเห็นกันได้ในแถบดินแดนสุวรรณภูมิ คนไทย คนมอญ คนพม่า คนลาว คนกัมพูชา และคนเวียดนามต่างก็มีขนมจีนเป็นอาหารที่กินกันในชีวิตประจำวัน จะต่างกันไปก็ตรงน้ำยาที่นำมาราดบนขนมจีนนั่นเอง ในประเทศไทยเองก็มีการกินขนมจีนกันทั่วไปในทุกพื้นที่ แต่ละพื้นที่จะมีชื่อเรียกและนิยมวิธีรับประทานที่แตกต่างกันออกไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น

-ภาคกลาง เรียกว่า "ขนมจีน" นิยมรับประทานคู่กับน้ำยา น้ำพริก แกงเผ็ด และเครื่องเคียงเป็นผักสด ผักลวกต่างๆ  ที่เราคุ้นเคยกันดี

-ภาคเหนือ เรียกว่า "ขนมเส้น" หรือข้าวเส้น หรือข้าวหนมเส้น นิยมรับประทานร่วมกับน้ำเงี้ยวหรือน้ำงิ้วที่มีเกสรดอกงิ้วป่าเป็นองค์ประกอบสำคัญ รับประทานกับแคบหมูและข้าวกั้นจิ๊น (ข้าวเงี้ยว, จิ๊นส้มเงี้ยว) เป็นเครื่องเคียง

-ภาคอีสาน เรียกว่า "ข้าวปุ้น" อีสานใต้เรียกว่า "นมปั่นเจ๊าะ" คล้ายกับกัมพูชา นิยมรับประทานกับน้ำยาใส่ปลาร้า ใส่กระชายเหมือนน้ำยาภาคกลาง และข้าวปุ้นน้ำแจ่วที่รับประทานขนมจีนกับน้ำต้มกระดูก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ไม่ใส่เนื้อปลา และนำขนมจีนมาทำส้มตำเรียกตำซั่ว นิยมขนมจีนแป้งหมัก

-ภาคใต้ เรียกว่า "โหน้มจีน" โดยเป็นอาหารเช้าที่สำคัญของภาคใต้ฝั่งตะวันตก เช่น ระนอง พังงา ภูเก็ต รับประทานกับผักเหนาะชนิดต่าง ๆ ทางภูเก็ตนิยมรับประทานกับห่อหมก ปาท่องโก๋ ชาร้อน กาแฟร้อน ทางชุมพรนิยมรับประทานขนมจีนเป็นอาหารเย็น รับประทานกับทอดมันปลากราย ส่วนที่นครศรีธรรมราชรับประทานเป็นอาหารเช้าคู่กับข้าวยำ น้ำยาทางภาคใต้ใส่ขมิ้นไม่ใส่กระชายเหมือนภาคกลาง ถ้ารับประทานคู่กับแกงจะเป็นแกงไตปลา

เส้นขนมจีนแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1 ขนมจีนแป้งหมัก เป็นเส้นขนมจีนที่นิยมทำทางภาคอีสาน เส้นมีสีคล้ำออกน้ำตาล เหนียวนุ่มกว่าขนมจีนแป้งสด และเก็บไว้ได้นานกว่า ไม่เสียง่าย การทำขนมจีนแป้งหมักเป็นวิธีการทำเส้นขนมจีนแบบโบราณ ต้องเลือกใช้ข้าวแข็ง คือข้าวที่เรียกว่า ข้าวหนัก เช่น ข้าวเล็บมือนาง ข้าวปิ่นแก้ว ข้าวพลวง ถ้าข้าวยิ่งแข็งจะยิ่งดี เวลาทำขนมจีนแล้ว ทำให้ได้เส้นขนมจีนที่เหนียวเป็นพิเศษ นอกจากนี้แหล่งน้ำธรรมชาติก็เป็นสิ่งสำคัญ ต้องใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จากคลองชลประทาน หรือน้ำบาดาล ไม่ควรใช้น้ำประปา เพราะเส้นขนมจีนจะเละทำให้จับเส้นไม่ได้ ไม่น่ากิน

2 ขนมจีนแป้งสด ใช้วิธีการผสมแป้ง ขนมจีนแป้งสด เส้นจะมีขนาดใหญ่กว่าขนมจีนแป้งหมัก เส้นมีสีขาว อุ้มน้ำมากกว่า ตัวเส้นนุ่ม แต่จะเหนียวน้อยกว่าแป้งหมัก วิธีทำจะคล้ายๆกับขนมจีนแป้งหมัก แต่จะทำง่ายกว่าเพราะไม่ต้องแช่ข้าวหลายวัน และได้เส้นขนมจีนที่มีสีขาว น่ารับประทาน การเลือกซื้อขนมจีนแป้งสด ควรเลือกที่ทำใหม่ๆ เส้นจับวางเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบ เส้นขนมจีนไม่ขาด ดมดูไม่มีกลิ่นเหม็นแป้ง ไม่มีเมือก ขนมจีนแป้งสดจะเก็บได้ไม่นาน ควรนำมานึ่ง ก่อนกิน

พิศาล บุญปลูก ชาวไทยเชื้อสายรามัญผู้สนใจศึกษาอาหารและวัฒนธรรมมอญกล่าวว่า "
จริงๆแล้วขนมจีนเป็นอาหารของชาวมอญหรือชาวรามัญ ชาวมอญเรียกขนมจีนว่า “คนอมจิน” โดยคำว่า “คนอม” แปลว่า จับกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ส่วนคำว่า “จิน” แปลว่าการทำให้สุก นอกจากนี้ "คนอม" นั้นสันนิษฐานว่าน่าจะใกล้เคียงกับคำไทย "เข้าหนม" ที่แปลว่าข้าวที่นำมานวดให้เป็นแป้งเสียก่อน ซึ่งต่อมาคำนี้ก็ได้เพี้ยนมาเป็น “ขนม” ดังนั้นคำว่าขนมในความหมายดั้งเดิมจึงไม่ได้แปลว่าของหวานอย่างที่เราใช้และเข้าใจกันในปัจจุบัน

ขนมหรือหนม (ภาษาเขมร) และคนอม (ภาษามอญ) ต่างก็หมายถึงอาหารที่ทำมาจากแป้ง คำว่าขนมจีนจึงน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า คนอมจิน ของชาวมอญนั่นเอง ทำให้เกิดสมมุติฐานตามมาอีกว่า ดั้งเดิมทีเดียวขนมจีนเป็นอาหารมอญ แล้วจึงแพร่หลายไปสู่ชนชาติอื่น ๆ ในสุวรรณภูมิตั้งแต่โบราณกาล

.................................................................................

ติดตามข่าวสาร สาระน่ารู้ เกี่ยวกับอาหาารและเบเกอรี่ และสูตรอาหาร เบเกอรี่ต่างๆมากมาย ได้ที่ 
www.facebook.com/ottothailandclub
www.otto.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้